หากคุณยังไม่รู้จักสวิตเซอร์แลนด์มากพอและไม่รู้ว่าคนสวิสปฏิบัติต่อกันอย่างไร การเข้าสังคมรวมกลุ่มกับคนสวิส อาจกลายเป็นเรื่องยาก เราจะมาเปิดเผย 10 กฏลับที่ไม่เคยประกาศแต่เป็นที่รู้กันเฉพาะในกลุ่มคนสวิส เพื่อให้คุณเรียนรู้และเอาตัวรอดได้

 

  1. ทักทายอย่างเป็นมิตร 

    ผู้ที่ไปเยือนสวิตเซอร์แลนด์ใหม่ๆ อาจประปลาดใจได้เมื่อเห็นคนสวิสทักทายกันบ่อยมาก ในแง่มุมนี้ มองได้ว่าเพราะสวิตเซอร์แลนด์เป็นเหมือนหมู่บ้านเล็กๆที่ทุกคนพยายามเป็นมิตรต่อกัน (จากข้อมูลของ Schweizer Knigge)  การทักทายทุกคนที่คุณเดินผ่านตามทางเดินหรือเจอในลิฟต์ ในที่ทำงานด้วยคำว่า “Gruezi” หรือ “Bonjour”  ถือว่าเป็นความสุภาพ รวมทั้งการทักทายคนในห้องรอพบแพทย์ หรือทักทายพนักงานในซุปเปอร์มาเก็ตก็เป็นสิ่งที่คนสวิสนิยมทำกัน เมื่อออกไปนอกเมือง ก็ควรทักทายผู้คนที่พบเจอบนถนน สถานีรถไฟ ตอนปีนเขา หรือแม้กระทั่งตอนเล่นสกี

  2. จับมือเช็คแฮนด์

    Sabine Baerlocher  เทรนเนอร์ด้านวัฒนธรรม แห่ง Active Relocation บริษัทในเจนีวา กล่าวว่า โดยปกติแล้วคุณต้องจับมือในการพบเจอครั้งแรกทุกครั้ง เดินเข้าไปในห้องประชุมเจรจาธุรกิจก็จะถูกคาดหวังให้จับมือทักทายทุกคนที่อยู่ในห้องนั้น เช่นเดียวกันกับการพบปะสังสรรค์ทั่วไป ซึ่งจะต้องจับมือมากขึ้นเมื่อไปพบแพทย์ หมอฟัน หรือแม้กระทั่งช่างทำผม นิสัยนี้เริ่มต้นตั้งแต่อนุบาล เด็กสวิสได้รับการฝึกให้จับมือกับครูเมื่อเริ่มและจบคลาส จึงทำให้การปฏิเสธที่จะจับมือครูผู้หญิงของเด็กนักเรียนชาวมุสลิม 2 คนเมื่อเร็วๆนี้ถูกมองว่าเป็นการต่อต้านวัฒนธรรมสวิสและเหยียดเพศ  Baerlocher เสริมว่า”ไม่ใช่แค่จับมือธรรมดา แต่ต้องจับมือให้แน่น และมองตาคนที่คุณจับมือด้วย และเมื่อคุณสนิทกับเขามากขึ้น ก็สามารถจูบเขา 3 ครั้ง” โดยการจูบนี้สามารถทำได้ระหว่างผู้ชายด้วยกันในภูมิภาคที่พูดภาษาฝรั่งเศสในสวิตเซอร์แลนด์

  3. ตรงต่อเวลา

    ข้อนี้อาจไม่แปลกนัก เพราะทุกคนรู้ดีว่าสวิตเซอร์แลนด์เป็นดินแดนแห่งนาฬิกา คนสวิสให้ความสำคัญกับการรักษาเวลา การมาสายถือว่าใช้ไม่ได้ ดังนั้นต้องแน่ใจว่าคุณจะไปถึงตรงตามที่นัดหมายไว้ หรือจะดีมากถ้าไปก่อนเวลา 5-10 นาที  ฝั่งตรงข้ามจะได้ประทับใจ ถ้าคุณได้รับเชิญไปดินเนอร์ ห้ามมาช้ากว่าเวลาที่เจ้าของงานผู้เชิญแจ้งไว้ ตรวจสอบกับผู้เชิญให้ดีว่าเขาอยากให้คุณไปถึงกี่โมง Baerlocher ยกตัวอย่างว่า สำหรับบางคน โดยเฉพาะที่เป็นเยอรมัน-สวิส ถ้าบอกว่า 19.30 น. นั่นหมายถึง นั่งลงที่โต๊ะเวลา 19.30 น. ในขณะที่บางคนอาจเข้าใจว่า 19.30 น. คือเวลาที่ต้องมาถึง ถ้าดูแล้วคุณกำลังจะไปสายมากกว่า 15 นาที คุณควรโทรบอกเจ้าของงานพร้อมเตรียมเหตุผลหรือข้อแก้ตัวที่ฟังขึ้น

  4. จำชื่อคนให้ได้

    เมื่อเริ่มมีการแนะนำตัวกันในงานพบปะสังสรรค์ คนสวิสจะจับมือและแนะนำชื่อตัวเอง คุณควรทวนชื่อเขา และคุณจะถูกคาดหวังให้เรียกเขาด้วยชื่อตอนบอกลาหลังจบงาน คงไม่ใช่ปัญหาหากเป็นการพบปะสังสรรค์กลุ่มเล็ก แต่คงท้าทายไม่น้อยเมื่อต้องเจอกลุ่มใหญ่ ถ้าคุณไม่เก่งเรื่องการจำชื่อคน ก็ขอแนะนำให้มาถึงคนแรกและกลับคนสุดท้าย

  5. สบตาคู่สนทนา

    เมื่อนั่งอยู่ที่โต๊ะทานอาหารกับคนสวิสและมีการชนแก้ว ต้องมั่นใจว่าคุณชนแก้วกับทุกคนและสบตาพวกเขา ทุกครั้งที่มีการเปิดขวดไวน์ ไม่ว่าจะเป็นไวน์ขาวเมื่อเริ่มต้นอาหารเรียกน้ำย่อยจานแรก จนไปถึงสุราปิดท้ายอาหาร ก็เป็นโอกาสให้ชนแก้ว

  6. พกรองเท้าสลิปเปอร์

    นอกจากจับมือและจูบเจ้าของบ้านแล้ว สิงแรกที่คุณควรทำคือถามว่าคุณต้องถอดรองเท้าหรือไม่ หากเจ้าของบ้านตอบว่าต้อง โดยมากเขามักจะเตรียมรองเท้าแตะเดินในบ้านให้คุณ แต่คุณอาจรู้สึกสบายใจกว่าถ้าสวมรองเท้าตัวเอง ดังนั้นการพกรองเท้าสลิปเปอร์ไปด้วยก็เป็นทางออกที่ดี

  7. เคารพวันอาทิตย์

    คนสวิสให้ความสำคัญกับวันอาทิตย์ มองว่าเป็นวันพิเศษ ร้านค้าต่างๆปิดทำการ เพื่อให้ทุกคนได้ใช้เวลากับครอบครัวอย่างเต็มที่  ควรหลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมทางสังคมในวันอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถจัดปาร์ตี้บาร์บีคิวกับเพื่อนบ้านได้ ถึงแม้จริงๆแล้วควรจะจัดในวันเสาร์มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนสวิสที่อยู่ภูมิภาคที่พูดภาษาเยอรมัน

  8. อย่าเปิดห่อของขวัญ

    ถ้าแขกของคุณถือขวดไวน์หรือกล่องช็อคโกแลตมาให้ อย่าเพิ่งเปิดดื่มและทานทันที คุณควรจะแสดงความขอบคุณแต่เก็บของขวัญไปเปิดทีหลัง และคุณควรจะเตรียมไวน์อย่างระมัดระวังล่วงหน้าหลายสัปดาห์ โดยเลือกไวน์ให้เหมาะกับอาหารแต่ละคอร์ส

  9. อย่าทำอะไรกะทันหัน

    ถ้าคุณอยากจะเชิญใครมาเที่ยวบ้านคุณ คุณควรบอกพวกเขาล่วงหน้า อย่าเชิญแขกในนาทีสุดท้ายในสวิตเซอร์แลนด์เด็ดขาด คุณควรเชิญแขกอย่างน้อยหนึ่งเดือนล่วงหน้า

  10. อย่าพูดเรื่องเงิน

    คงเคยได้ยินมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้วว่าอย่าเสวนากันเรื่องเพศ ศาสนา หรือการเมือง กับคนที่คนยังไม่รู้จักดี แต่ถ้าคุณอยากจะสนิทหรือได้รับการเชื้อเชิญจากคนสวิส คุณต้องไม่พูดเรื่องเงิน อย่าพูดเรื่องเงินเดือน อย่าถามคนสวิสว่าพวกเขามีรายได้เท่าไร เพราะถือว่าเป็นข้อห้ามที่คนสวิสจริงจังมาก

 

ข้อมูลต้นฉบับภาษาอังกฤษจาก www.thelocal.ch

รูปภาพ Stephan Schacher/Swiss Tourism